"" is in your cart now.

PORTFOLIO 2014


CANDLE ART AROMA CANDLES, ART CANDLES, CANDLES, CANDLES FESTIVAL, FLOWER CANDLES, THAILAND

ต้นเทียนพรรษาหอมวัดเมืองเดช

อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี ประจำปี 2557

1. แนวความคิดในการออกแบบ ในการออกแบบต้นเทียนพรรษาหอมวัดเมืองเดช อำเภอเดชอุดม ได้แนวความคิดมาจากเรื่องราวในพระพุทธประวัติ ตอนที่ 117 ซึ่งเป็นตอนที่พระพุทธองค์เสด็จลงจากดาวดึงส์พิมาน ภายหลังจากที่ทรงตรัสพระธรรมเทศนาอภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา นำมาออกแบบเป็นเรื่องราวองค์ประกอบบนรถต้นเทียน นำเสนอเรื่องราวของขบวนส่งเสด็จซึ่งประกอบด้วยหมู่เทพดา หมู่พรหม และเหล่านางฟ้า

2. รูปแบบหรือธีมในการออกแบบ รูปแบบในการจัดทำต้นเทียนพรรษาหอมในปี 2557 ของวัดเมืองเดช อำเภอเดชอุดม ได้ผสมผสานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานใต้ในเรื่องของ “ลวดลายอีสานแท้” เข้ากับศิลปหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของชุมชน ในอำเภอเดชอุดม ได้แก่ “เทียนหอม” เดชอุดม สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ของอำเภอ นำเสนอผ่านองค์ประกอบบนรถต้นเทียนประเภทแกะสลักขนาดใหญ่ มีขนาดความกว้าง 3 เมตร ยาว 13 เมตร และ สูง 5.50 เมตร

เรื่องราวบนรถต้นเทียนพรรษาหอมในปี 2557 นี้ ต้นเทียนพรรษาหอมวัดเมืองเดช อำเภอเดชอุดม นำเสนอองค์ประกอบบนรถต้นเทียนเป็นเรื่องราว พระพุทธประวัติ ตอนที่ 117 ซึ่งเป็นตอนที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงจากดาวดึงส์พิมานในเทวโลก ภายหลังจากที่เสด็จไปจำพรรษา ณ บัณฑุมกัมพลศิลาอาสน์ เพื่อจะตรัสพระธรรมเทศนาอภิธรรม 7 คัมภีร์ โปรดพระพุทธมารดา โดยส่วนด้านหน้าของรถต้นเทียนจัดเป็นขบวนส่งเสด็จ ประกอบด้วย พระพรหม ซึ่งทรงหงส์เป็นพาหนะ และเหล่าเทพดา นางฟ้า นำขบวนเสด็จ

ส่วนลำต้นเทียนแกะสลักด้วยลวดลายก้านขดอีสานแท้ที่มีการขดในลักษณะเลข ๑ ไทย มีความหมายทางอุดมคติคือ จุดกำเนิดแห่งพลัง ประกอบด้วยเรื่องราวการบูชาพระพุทธองค์จากเหล่ามหาเทพ ส่วนองค์ประกอบด้านหลังลำต้นเทียนเป็นเรื่องราวขณะที่พระพุทธองค์ทรงเสด็จลงจากดาวดึงส์พิมาน ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน “อัสสยุช” (ราวเดือน 11) หรือวันออกพรรษา

โดยท้าวโกสีย์ได้เนรมิตบันไดทิพย์ทั้ง 3 จากเทวโลก ได้แก่ บันไดทองอยู่ทางเบื้องขวา บันไดเงินอยู่ ณ เบื้องซ้าย และบันไดแก้วประดิษฐานอยู่ตรงกลาง โดยเชิงบันไดทั้ง 3 จรดพื้นภูมิปฐพี (พื้นโลก) ข้างบนบันไดนั้นจรดยอดเขา “สิเนนุราช” อันเป็นที่ตั้งแห่ง “ดาวดึงส์พิมาน” บันไดเงินและบันไดทองเป็นที่ลงของหมู่เทพดาและหมู่พรหมทั้งหลาย ส่วนพระพุทธองค์นั้นเสด็จลงบันไดแก้วที่อยู่ตรงกลาง

ในกาลนั้นเมื่อพระพุทธองค์สถิตเหนือยอดเขาสิเนนุราช ทรงทอดพระเนตรเครื่องสักการบูชาของหมู่เทพดาทั้งหมื่นโลกธาตุและหมู่มนุษย์ที่มีจำนวนมากมายจนนับมิได้ (ซึ่งคณะช่างเทียนได้ออกแบบและจัดทำเป็น “มหาบายศรี” เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องสักการะทั้งมวล โดยจัดทำด้วย “เทียนหอม” ทั้งหมด)

ในท่ามกลางระหว่างเทพ พรหม และบรรษัทแวดล้อมเป็นบริวาร พระพุทธองค์ก็ได้ทรงทำ “ยมกปาฏิหาริย์” อีกครั้ง ด้วยการที่ทรงเหยียบพระบาทแรกลงบนพื้นโลก ซึ่งต่อมาได้เกิดเป็นสถานที่ระลึก เรียกว่า “อจลเจดีย์” หรือเรียกแบบไทยว่า “รอยพระพุทธบาท” ตามตำนานตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เรียบเรียงโดย : นายดนัย สัณหจันทร์ นายช่างผู้ควบคุมโครงสร้างและองค์ประกอบต้นเทียนพรรษาหอม วัดเมืองเดช อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

ลวดลายอีสาน ที่นำมาใช้ในการจัดทำต้นเทียนพรรษาหอม ได้มีการศึกษาข้อมูลมากว่า 30 ปี โดยอาจารย์อำนวย วรพงศธร อาจารย์ผู้สอนวิชาศิลปะประจำชาติ คณะศิลปหัตถกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษา อุบลราชธานี โดยได้ทำการศึกษาลวดลายที่ปรากฏอยู่ในโบราณสถาน โบราณวัตถุ และงานหัตถกรรมพื้นบ้านอีสานของชาวจังหวัดอุบลราชธานีและจังหวัดใกล้เคียง โดยการคัดลอก วาดลาย ปั้นลาย ถ่ายภาพ และพูดคุยสอบถามจากผู้รู้และปราชญ์ท้องถิ่น นำข้อมูลมาวิเคราะห์และจัดเก็บเป็นข้อมูลการศึกษา

“ลวดลายอีสาน” ซึ่งในปัจจุบันมีการศึกษาและจัดเก็บรวบรวมข้อมูลลวดลายอีสานอย่างมีแบบแผนค่อนข้างน้อยมาก มีความเสี่ยงต่อการสูญหายของศิลปวัฒนธรรมทางด้านลวดลายอีสานไปตามกาลเวลา

ดังนั้นเพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบทอด และเผยแพร่ศิลปะความงดงามของลวดลายอีสานของท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จัก คณะช่างเทียนจึงนำเอา “ลวดลายอีสานแท้” ที่ได้จากการศึกษามาเป็นส่วนประกอบหลักในการจัดทำต้นเทียนพรรษาหอมของวัด เมืองเดช อำเภอเดชอุดม ในงานประเพณีแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2557 ของจังหวัดอุบลราชธานี และเพื่อเป็นการร่วมเฉลิมฉลองสมโภช จังหวัดอุบลราชธานี ในวาระครบ 222 ปี

โดยนำเสนอรูปแบบ ลวดลายอีสาน ที่มีปรากฏอยู่ตามโบราณสถาน โบราณวัตถุ และงานหัตถกรรมพื้นบ้านที่เกิดจากการสังเกตพืชพรรณและ สัตว์ต่างๆ ของช่างโบราณ นำมาจินตนาการประยุกต์ผูกลวดลาย จนเกิดเป็นลายก้านขดเครือเถาว์ที่งดงาม มีกลิ่นไอแห่งความเป็นอีสานอย่างแท้จริง ถึงแม้ว่าจะขาดระเบียบแบบแผนเช่นลวดลายในราชสำนักไปบ้างก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวไทยและชาวต่างประเทศที่เข้ามาเยี่ยมชมงานประเพณีแห่เทียนพรรษาให้เห็นถึงความงดงามและทรงคุณค่าทางภูมิปัญญาของชาวอุบลราชธานีอย่างแท้จริงต่อไป

Related VDO



Call : +66 99 791 9539
+66 90 289 2664
+66 61 964 2324
Email : [email protected]
Line ID : chalida 22555
Powered By NOKHOOK STUDIO
Copyright Mutitacandle 2023